Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

Once upon a time in India (ตอนที่ 3)

Print December 03, 20132,607 views , 0 comments

Once upon a time in India (ตอนที่ 3)
กาลครั้งหนึ่งในอินเดีย-ตามรอยสังเวชนียสถาน
 
 

วันนี้เราตื่นกันตั้งแต่ตีสี่ค่ะ รับประทานอาหารเช้ากันตั้งแต่ตีห้า เพื่อที่จะออกจากที่พักในเวลา 6 โมง ไปสู่เขาคิชกูฏ เมืองราชคฤห์ ซึ่งในอดีตเมืองนี้เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ อันเป็นเมืองใหญ่และเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ปกครองโดยพระเจ้าพิมพิสาร เมืองนี้ตั้งอยู่บนหุบเขา มีภูเขา 5 ลูก ล้อมรอบอยู่ทุกทิศ คือ เวปุลละ, เวการะ, บัณฑวะ, อิสิคิริ และ คิชกูฏ เมืองราชคฤห์จึงเรียกอีกชื่อว่า “เบญจคีรีนคร”  ซึ่งวันนี้เราจะไปกันที่เขาคิชกูฏนี่ล่ะค่ะ  ณ เมืองนี้นับว่าเป็นเมืองที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ปักหลักเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ เมืองนี้เป็นที่แรก และวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา คือ วัดเวฬุวัน ยังเกิดขึ้นที่เมืองนี้อีกด้วยค่ะ แต่ในภายหลังพระเจ้าอาชาตศัตรูได้เปลี่ยนเมืองหลวงไปอยู่ที่ปาฏลีบุตร ส่งผลให้ราชคฤห์ในปัจจุบันเป็นมืองเล็กๆ ในรัฐพิหารเท่านั้น
 
สักประมาณ 9 โมง หลังจากที่หลับๆ ตื่นๆ นั่นรถกันมาเราก็ถึงเขาคิชกูฏกันแล้ว ระหว่างทางก่อนจะมาถึงนั้นเราได้ผ่านสถานที่สำคัญ 2แห่งคือ ชีวกัมพวัน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในพระพุทธศาสนา โดยมีหมอชีวกเป็นแพทย์ประจำราชสำนัก (ท่านเป็นบุตรของนางสาลวดี หญิงโสเภณี เมื่อคลอดท่านออกมาเป็นชายจึงนำไปทิ้งกองขยะ แต่พระอภัยราชกุมารไปพบเข้าจึงนำไปชุบเลี้ยงในวัง และให้ศึกษาวิชาแพทย์ที่เมืองตักศิลา นครหลวงแห่งแคว้นคันธาละ ซึ่งท่านเรียนวิชาแพทย์ได้อย่างแตกฉานจึงเป็นหมอประจำพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา) และ สถานที่คุมขังพระเจ้าพิมพิสาร (พระเจ้าพิมพิสารนั้นได้สละราชบัลลังก์ให้แก่พระเจ้าอาชาตศัตรู ซึ่งเป็นพระโอรสของพระองค์ แต่เนื่องจากพระเจ้าอาชาตศัตรูได้รับการยุยงจากพระเทวทัตทำให้ระแวงพระบิดาของตน ว่าจะทวงบัลลังก์คือในวันหนึ่ง จึงสั่งคุมขัง และทรมานจนถึงแก่ชีวิตในที่สุด)
 


ร้านขายของบริเวณทางขึ้นเขาคิชกูฏ สีสันสดใสดีค่ะ


ที่เขาคิชกูฏนั้นบริเวณตีนเขากก็มีร้านรวงเล็กๆ ขายของที่ระลึกกันสองข้างทาง และก็มีบรรดาพ่อค้า รี่เข้ามาหาเราเพื่อที่จะขายของ เรารู้สึกเหมือนเป็นดาราดังอย่างไรอย่างนั้นเลยค่ะ นอกจากข้าวของทีเขาเร่ขายพวกเราก็มี ไม้เท้าเป็นท่อนๆ ให้เราเช่าด้วย เพื่อให้ค้ำตัวเองขึ้นไปจนถึงยอดเขาคิชกูฏ ระยะทางโดยรวมของเขาคิชกูฏตั้งแต่ตีนเขาจนถึงยอดเขาประมาณ 800 เมตร ใช้เวลาในการเดินขึ้นไปประมาณ 20-30 นาที ความจริงมีกระเช้าลอยฟ้าให้ขึ้นด้วยนะคะ แต่ไม่มีคนไทยกล้าขึ้นสักคน เพราะที่อินเดียนี่มีชื่อมากเรื่องๆไฟตก ไฟดับ หากขึ้นๆ ไป แล้วไฟดับนี่คงใจหายใจคว่ำแย่ จึงไม่มีใครเลือกนั่งกระเช้ากันสักคนค่ะ สำหรับผู้สูงวัยที่มั่นใจว่าขึ้นไปไม่ไหวแน่ๆ จะขึ้นเสลี่ยงกัน เสลี่ยงของเขาก็น่ารักดีค่ะ เป็นที่นั่งห้อยๆ สำหรับ 1 คน แล้วเขาก็จะมีคนคอยหามหัวท้าย 2 คน เหมาทั้งขาขึ้น และขาลงรวม 700 บาทค่ะ สำหรับดิฉันก็เดินขึ้นไปค่ะ ระหว่างเดินขึ้นไปก็ตั้งใจว่าจะทำสมาธินึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรื่อยๆ จะได้ได้บุญจากการเจริญพุทธานุสติไปด้วยค่ะ



เสลียงแบบนี้สำหรับ สว.สบายเลยค่ะ



สาวๆ ถ้าเดินไหว แต่อยากมีตัวช่วย ก็ใช้ไม้เท้าแบบนี้ค่ะ


 
หน้าตากระเช้าลอยฟ้าขึ้นเขาคิชกูฏ



คนไทยไม่กล้าขึ้น แต่คนอินเดียไม่กลัวอยู่แล้ว


ระหว่างทางที่เดินขึ้นไปนั้นเราก็ได้ยินเสียงเรียกว่า “มหาราชา” และ “มหาราณี” ไปตลอดทางเลย ผู้ที่เรียกเราก็คือเหล่าขอทานที่อยู่ตามสองข้างทาง ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา เห็นแล้วก็ไม่กล้ามองเขาเลย กลัวใจอ่อน (เพราะถ้าให้กลัวจะถูกรุมน่ะค่ะ) เพราะเขาดูน่าสงสารจริงๆ ค่ะ ต้องบอกตรงๆ เลยว่า เมื่อมาเห็นขอทานตัวจริงในประเทศอินเดียแบบนี้แล้วทำให้เข้าใจถึงสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ของอินเดียที่ได้เคยศึกษามาจากประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจริงๆ คือ เรามักจะได้อ่านหนังสือว่า แม้ในยุคพุทธกาลก็มีขอทานมากมาย เนื่องจากระบบวรรณะของศาสนาฮินดูในประเทศอินเดียที่ทำให้มีการแบ่งชนชั้นของมนุษย์ได้ชัดเจน เด็ดขาด (วรรณะ 4 คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร) หากใครเกิดมาในวรรณศูทร ซึ่งเป็นวรรณะต่ำสุด หรือ ผู้ที่เกิดมาจากพ่อแม่ต่างวรรณะก็จะเป็น “จัณฑาล” ก็ไม่พ้นต้องเป็นขอทานแบบนี้ เพราะสังคมจะไม่ยอมรับ เมื่อเห็นพวกเขาแล้วรู้สึกหดหู่จริงๆนะคะ ลักษณะรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้า ขะมุกขะมอมจริงๆ บางคนก็พิการ ตาบอดบ้าง ขาขาดบ้าง ก็พยายามลากสังขารตัวเองมาขอทาน เหมือนกับเรื่องราวของขอทานที่ปรากฎในพระไตรปิฎกหลายๆพระสูตร เช่น เรื่องของมหาทุคตะ ที่ยากจนมากเป็นขอทาน แต่สุดท้ายได้ถวายภัตตาหารแด่พระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง จึงทำให้สามารถพลิกชีวิตเป็นมหาเศรษฐีได้ในชั่วข้ามคืน...ดังนั้นเมื่อได้มาเห็นขอทานจริงๆ ที่อินเดีย ณ สถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้เผยแผ่พระพุทธศานาในอดีต จึงทำให้เข้าในสภาพแวดล้อมของอินเดียในยุคนั้นได้มากขึ้นค่ะ



เสียง "มหาราชา"..."มหาราณี" ร้องเรียกพวกเราไปตลอดทาง

 
เดินมาครึ่งทางแล้วพระอาจารย์ที่เป็นไกด์ให้เรา ก็ได้ชี้ให้เราเห็นหน้าผาที่อยู่ทางขวามือ (ขาขึ้น) ว่าตรงนี้เอง เป็นที่ซึ่งพระเทวทัตกลิ้งหิ้นลงมาหวังปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าหิ้นนั้นกลับแตกเป็นเสี่ยงๆ มีเพียงสะเก็ดหินเท่านั้นที่กระเด็นมาโดยเท้าของพระองค์ทำให้ห้อพระโลหิต เมื่อเห็นหน้าผาแล้วก็นึกไปถึงเหตุการณ์นั้นๆ ทำให้เห็นภาพของประวัติศาสตร์ชัดขึ้น แล้วเมื่อเดินต่อไปเราก็ถึงถ้ำพระโมคคัลลานะ ซึ่งแยกไปทางขวามือ เป็นถ้ำเล็กๆ พอ 1 คน อาศัยได้ ซึ่งถ้ำนี้ร่มรื่น ภายในถ้ำเย็นสบาย ปัจจุบันมีคนไทยนำแผ่นทองคำเปลวไปติดไว้เต็มไปหมดเลย เมื่อเข้าไปก็นึกถึงว่าในอดีตพระโมคคัลลานะพำนักอยู่ที่กุฏิแห่งนี้



บนยอดหน้าผานี่เองค่ะ ที่พระเทวทัตขึ้นไปกลิ้งหินลงมาใส่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า



แม่ค้าขายของระหว่างทาง...วางขายกันแบบนี้เลย


 

ปากทางเข้าถ้ำพระโมคคัลลานะ มีธงราวประดับ และมีทองคำเปลวติดแบบนี้เต็มไปหมด (คาดว่าจะเป็นคนไทยนี่ล่ะค่ะที่ปิดทอง)



ภายในถ้ำพระโมคคัลลานะ ก็เป็นแบบนี้ เย็นสบายดีเวลานั่งสมาธิคงจะสบายเลยค่ะ


เดินต่อมาอีกระยะหนึ่งก็เห็นถ้ำสุกรขาตา ซึ่งเป็นถ้ำสุดท้ายก่อนถึงทางขึ้นชันเพื่อไปยังยอดเขาอันเป็นคันธกุฏีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ำนี้ผนังถ้ำยื่นออกมาเหมือนจมูกหมู จึงให้ชื่อว่าสุกรขาตา เป็นถ้ำที่พระสารีบุตรพำนักและบรรลุธรรม  และบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์นั่นเอง ปัจจุบันมีคนไทยนำทองคำเปลวไปแปะไว้เต็มไปหมดเช่นเดียวกัน  จากนั้นเราจึงเดินต่อไปอีกนิดแล้วขึ้นบันไดขึ้นไปยังยอดเขา ระหว่างทางขึ้นบันไดเมื่อมองย้อนกลับลงมานั้นจะเห็นวิว ทิวทัศน์ที่สวยงามมากจริงๆ บนยอดเขาคิชกูฏเป็ฯลานกว้างพอสมควร มีอิฐปรับกหักพังลักษณะสี่เหลี่ยมเป็นแนวอยู่เป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ถัดมาทางขวามือก็มีการสันนิษฐานว่าเป็นกุฏิของพระอานนท์ ที่นี่มีลมพัดเย็นสบาย เหมาะสมแก่การพักผ่อน และ ปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง มิน่าล่ะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเลือกที่นี่เป็นที่พำนัก พร้อมทั้งพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เราขึ้นไปเราก็ไปนั่งเรียงรายอยู่บริเวณลานด้านหน้าพระคันธกุฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อสวดมนต์และนั่งสมาธิถวายเป็นพุทธบูชา...เวลาที่เรานั่งสมาธิบนยอดเขาคิชกูฎนี้ ลมพัดมาเย็นๆ (แม้จะมีแสงแดดบ้าง ซึ่งเราก็ใส่หมวกกันอยู่แล้ว) สถานที่เงียบสงบ รู้สึกว่านั่งแล้วใจสงบและรวมเป็นสมาธิได้เร็ว และเมื่อลืมตาขึ้นมาเราก็อธิษฐานจิต และเวียนประทักษิณรอบพระคันธกุฎี หลังจากนั้นจึงนำดอกไม้ที่เตรียมไว้มาวางถวายด้วยความเคารพ นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่ทำให้เรารำลึกนึกถึงพระพุทธชินสีห์ได้ด้วยความปลื้มใจ ตลอดเส้นทางการเดินขึ้นเขานี้ก็จะมีคนขายของตลอดซึ่งสุดท้ายก็ใจอ่อนซื้อไปจนได้ค่ะ



ถ้ำสุกรขาตา ที่มีลักษณะคล้ายจมูกหมูยื่นออกมาแบบนี้เอง
 


เกือบถึงยอดเขาจะเจอก้อนหินใหญ่ๆแบบนี้ค่ะ ดูสวยดี 



ถัดมาหน่อยก็มีบันไดแบบนี้ เพื่อขึ้นสู่ยอดเขาคิชกูฏ ที่มีกุฏิพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ด้านบน



พระคันธกุฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่บนยอดเขา ลมพัดเย็นสบายเลยค่ะ



วิวด้านบนสวยงามเป็นธรรมชาติมากๆ



เสลียงทั้งหลายจอดรออยู่ตรงทางขึ้นยอดเขาค่ะ


หลังจากนั้นเราจึงแวะไปรับประทานอาหารกลางวันที่วัดไทยศิริราชคฤห์ แล้วเรายังไปร่วมกันทอดผ้าป่าบำรุงวัดกันอีกด้วย สำหรับเมืองราชคฤห์นั้น ยังเป็นสถานที่สำคัญคือ เป็นเมืองอันเป็นที่ตั้งของวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา คือ วัดเวฬุวัน หรือ วัดป่าไผ่ ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต แต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แคว้นมคธ ตั้งอยู่นอกเมืองราชคฤห์ และที่วัดนี้เองเป็นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา “โอวาทปาฏิโมกข์” แก่พระอรหันตสาวก 1,250 องค์ ที่มาประชุมจาตุรงคสันนิบาต ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ในวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นหลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แล้วจึงส่งพระอรหันต์ทั้งหลายไปเป็นพระธรรมทูตประกาศพระศาสนา ที่วัดเวฬุวันนี้แม้ในภายหลังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่ก็ได้ยังรับการดูแลเป็นอย่างดี โดยมีพระสงฆ์เฝ้าดูแลทำความสะอาดอาสนะ และปฏิบัติต่อสถานที่ทุกแห่งที่พระองค์ประทับ เหมือนว่าพระอง์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ติดต่อกันอย่างนี้เป็นพันปี จนกระทั่งมีการย้ายเมืองหลวงไปจากกรุงราชคฤห์ ทำให้พันปีต่อมาวัดเวฬุวัน ถูกทอดทิ้งให้รกร้างไปในที่สุด  โดยในภายหลังกองโบราณคดีอินเดียได้บูรณะสถานที่นี้อีกครั้ง และในปัจจุบันรรัฐบาลอินเดียยังได้บูรณะ “สระกลันทกนิวาป” และ .”ลานจาตุรงคสันนิบาต” ขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นลานเล็กๆ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่กลางซุ้ม ซึ่งเชื่อกันว่าที่นี่เป็นสถารที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งชาวพุทธนิยมเวียนเทียน ณ ที่แห่งนี้ เมื่อไปถึงที่นี่พวกเราก็ไปรวมกันนั่งสมาธิ สวดมนต์ และเวียนประทักษิณรอบลานจาตุรงคสันนิบาตนี้ แล้วถวายดอกไม้ด้วยความปลื้มใจ มองไปรอบๆ ก็นึกอนุโมทนาบุญกับเหตุการณ์วันมาฆบูชา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวันที่พระพุทธองค์ประชุมเตรียมประกาศพระศาสนาก็ว่าได้ค่ะ  


 
ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
 

 
สระกลันทกนิวาปใสแจ๋วภายในสวนวัดเวฬุวัน ลมพัดเย็นสบาย



ซุ้มพระพุทธรูปปางประธานพร กลางลานจาตุรงคสันนิบาต


เมื่อเราเสร็จพิธีกรรม ณ วัดเวฬุวันแล้ว เราก็พากันขึ้นรถม้าอินเดีย ไปยังที่ประดิษฐานของพระพุทธเจ้าองค์ดำ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของผู้คนในบริเวณนี้เป็นอย่างมากค่ะ ระหว่างที่เรานั่งรถม้านั้นก็มีเด็กผู้ชายคนนึงจับปลายเก้าอี้นั่งของเราไว้แล้ววิ่งตามมาตลอดเลย (ระยะทางไม่ไกลค่ะ) ก็หวังจะขอตังค์เรานั่นล่ะค่ะ สุดท้ายเราก็ต้องให้เขาล่ะ...(ใจอ่อนอีกแล้ว) เมื่อเราไปถึงเราก็ไปสักการะบูชาจากนั้นจึงนั่งรถม้ากลับมาที่จุดจอดรถ เตรียมตัวไปมหาวิทาลัยนาลันทา ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากค่ะ




นั่งรถม้าอินเดียสนุกดีไปอีกแบบค่ะ



เด็กคนนี้ที่วิ่งตามรถม้าของเราไปตลอดทาง...ดีนะที่ทางไม่ไกลมาก



สักการะพระพุทธรูปองค์ดำ


ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา นั้นเราเห็นอดีตมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่มีพื้นที่และซากหินขนาดมหึมาค่ะ ซึ่งอ.ดร.จันทร์ ได้อธิบายว่าที่มหาวิทยาลัยนาลันทานี้นับว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เก่าแก่ และใหญ่ที่สุดในโลก เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน และที่สถานที่แห่งนี้ยังมีมหาสถูปในนาลันทามหาวิหาร เป็นอนุสรณ์แห่งสถานที่เกิด และปรินิพพานของพระสารีบุตร อีกทั้งยังเป็นเจดีย์ที่บรรลุอัฐิธาตุของพระสารีบุตรด้วย



ถ่ายป้ายแผ่นหินอธิบายเกี่ยวกับนาลันทามาฝากด้วยค่ะ



สวนสวยบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยนาลันทา


เรามาศึกษาเรื่องประวัติของเมืองนาลันทากันสักนิด นาลันทาเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากเมืองราชคฤห์ใหม่ประมาณ 12กิโลเมตร  ภายหลังการขุดค้นพบซากมหาวิทยาลัยแล้ว ทางรัฐบาลรัฐพิหารได้ประกาศยกหมู่บ้านนาลันทา เป็นอำเภอนาลันทา ในอดีตนาลันทาเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาแม้ใครั้งพุทธกาล เป็นศูนย์รวมนักปราชญ์นักวิชาการ พระสารีบุตรซึ่งเป็นเลิศทางด้านปัญญา ได้ประกาศให้เหล่านักวิชาการแห่งนาลันทารับรู้ความยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้าที่นี่  ภายหลังหลวงจีนฟาเหียนจาริกมาสืบศาสนาในชมพูทวีป ราว พ.ศ. 944-953 บันทึกไว้ว่าได้พบเพียงสถูปองค์หนึ่งที่นาลันทา ต่อมาไม่นานกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะพระนามว่าศักราทิตย์ หรือกุมารคุปตะที่ 1ครองราชย์ประมาณ พ.ศ. 958-998 ได้ทรงสร้างวัดอันเป็นสถานศึกษาขึ้นแห่งหนึ่งที่เมืองนาลันทา  และได้รับการอุปถัมภ์ต่อๆมา คือได้สร้างวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก6วัด ในบริเวณเดียวกัน จึงได้มีการรวมกำแพงกันในที่สุด เรียกว่า นาลันทามหาวิหาร และได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่  ซึ่งนักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบันเรียกกันว่า “มหาวิทยาลัยนาลันทา”



การจัดสรรพื้นที่ในมหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นระบบระเบียบมาก


มีหลักฐานจากบันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) ที่จาริกมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ในช่วง พ.ศ. 1172-1187 ได้บันทึกบรรยายอาคารสถานที่ใหญ่โต และศิลปกรรมที่วิจิตรงดงามเอาไว้ ในอดีตที่นี่มีนักศึกษาประมาณ 10,000  คน และมีอาจารย์ประมาณ 1,500 คน และมีมาตรฐานการศึกษาสูงกว่าสถาบันการศึกษาอื่นๆทั้งหมด ที่มีอยู่ในตะวันออกโบราณสมัยนั้น นาลันทามีห้องประชุมขนาดใหญ่บรรจุผู้ฟังได้มากกว่าพันคนขึ้นไป ถึง 8 ห้อง มีห้องเรียนกว่า 300 ห้อง มีห้องพระคัมภีร์ขนาดใหญ่ และมีหอพักนักศึกษา ในมหาวิทยาลัย  มีกฎกณฑ์ที่เข้มงวดมาก จะรับนักศึกษาได้นั้นต้องผ่านกฎเกณฑ์การทดสอบมากมาย พระนักศึกษาแห่งนาลันทาได้รับการยกย่องอย่างสูงจากทั่วทุกแห่ง โดยได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้ยกภาษีของหมู่บ้าน 200 หมู่บ้านในบริเวณโดยรอบให้เป็นค่าบำรุงมหาวิทยาลัย นักศึกษาจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และไม่ต้องกังวลในเรื่องปัจจัยสี่สามารถอุทิศเวลาทั้งหดให้แก่การศึกษาได้เต็มที่


 
บริเวณทางเดินที่มีทางเข้าห้องแยกเป็นส่วนๆ ตลอดทางเดิน สันนิษฐานว่าเป็นหอพักนักศึกษาในยุคนั้น



การก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่มหึมาเมื่ออยูด้านบนแล้วมองลงมาเห็นว่าสูงมากๆค่ะ


ในปีพ.ศ. 1742 กองทัพมุสลิมเติรกส์ ได้ยกมารุกรานรบชนะกษัตริย์แห่งชมพูทวีปฝ่ายเหนือ และเข้าครอบครองดินแดน ได้เผาผลาญทำลายวัด ปูชนียสถาน และสังหารพระภิกษุสงฆ์แทบหมดสิ้น มีข้อมูลที่ของนักประวัติศาสตร์ขาวมุสลิม ชื่อ มินฮัช  ได้เล่าถึงโมฮัมเม็ด บุขเตียร์ ทำลายเมืองหนึ่งในแคว้นพิหารตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งวิชาการของพระพุทธศาสนา เมืองนี้ก็คือเมืองนาลันทานันเอง พวกมุสลิมมีแม่ทัพชื่อ บักตยาร์ ขิลจิ พร้อมทหาร 200 คน บุกฆ่าพระสงฆ์ องค์แล้วองค์เล่า เมื่อเอามีดฟันคอขาด คนแล้วคนเล่า ก็ยังนั่งเฉย ไม่ร้องขอชีวิต ไม่โอดครวญ ไม่ต่อสู้ พระภิกษุถูกฆ่าอย่างเหี้ยมเกรียม เผาทำลายตำรับตำราต่างๆ โดยใช้เวลาเผานานจนถึง 3 เดือน จึงเผาหมด มหาวิทยลัยนาลันทาจึงพินาศนับแต่บัดนั้น หลังจากนั้นพระภิกษุที่ยังรอดชีวิตจึงลี้ภัยเข้าไปอยู่ในธิเบตบ้าง เนปาลบ้าง  มุสลิมนั้นหวังที่จะทำลายพระพุทธศาสนาให้หมดสิ้นไปจากอินเดีย
 
ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ที่ยังเหลืออยู่ ประมาณ70 องค์ ในอินเดียจึงได้รวมสิ่งของที่ยังพอรวบรวมได้ และรัฐมนตรีของกษัตริย์ในสมัยนั้นได้จัดทุนทรัพย์จำนวนหนึ่งส่งไปจากแคว้นมคธเพื่อซ่อมแซมปฏิสังขรณ์นาลันทาขึ้นมาใหม่แต่ทำได้เพียงบางส่วน แต่หลังจากนั้นมีปริพาชกใช้สถานที่นี้ประกอบพิธีกรรม เมื่อเสร็จพิธีจึงได้เผาทำลายนาลันทาอีกครั้งจนแทบไม่เหลือ นาลันทาจึงถูกปล่อยให้รกร้างมาตั้งแต่บัดนั้น  จนมาในยุคที่ประเทศอังกฤษปกครองอินเดียในปี พ.ศ. 2403 นายพลคันนิ่งแฮม มาสำรวจและพบมหาวิทยลัยนาลันทา ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงกองดินสูง จึงได้ขุดสำรวจตามหลักวิชาการทางโบราณคดี มหาวิทยาลัยนาลันทาจึงปรากฎแก่สายตาชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง
 
เมื่อพวกเราได้เดิสำรวจนาลันทาก็ได้ตระหนักด้วยตัวเองว่า นาลันทานั้นยิ่งใหญ่จริงๆ ไม่น่าเชื่อว่า แม้เหลือเพียงซากหิน แต่ก็ยังคงเห็นการจัดระบบ ระเบียบ ต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเขตที่เป็นบริเวณห้องประชุม ห้องคัมภีร์ ห้องพักนักศึกษา ซึ่งมีที่เป็นเขตห้องที่ให้นักศึกษา หรือ พระภิกษุ ได้แยกเดี่ยวมาพิจารณาตนเองด้วย นอกจากนั้งมีบริเวณที่เป็นเขตทำครัว มีบ่อน้ำขนาดใหญ่และลึกมาก ที่ใช้ทำอาหารเลี้ยงพระทั้งมหาวิทยาลัย ห้องเก็บเสบียง และระบบการระบายน้ำที่มีมาตรฐาน ฉันเดินกันเข้าไปเรื่อยๆ ก็นึกเห็นภาพในอดีต ที่แห่งนี้ซึ่งเต็มไปด้วยพระภิกษุมากมาย จากทั่วทุกสารทิศ มาศึกษากันที่นี่ และงานวิชาการต่างๆ ก็ได้รับการจัดการให้เป็นระบบระเบียบที่นี่ เป็นรากฐานแห่งการศึกษามาจนถึงปัจจุบัน ว่ากันว่าเนื่องจากอังกฤษที่ปกครองอินเดียในสมัยนั้นได้มาเห็นการจัดระบบของที่มหาวิทยาลัยนาลันทา จึงได้นำไปเป็นต้นแบบของการจัดระบบในมหาวิทยาลัยของอังกฤษนั่นเอง



บริเวณบ่อน้ำที่สันนิษฐานว่าใช้สำหรับบริโภคทั่วทั้งมหาวิทยาลัย



บ่อใหญ่และลึกมากๆค่ะ 

 
หลังจากที่ได้เดินชมทั่วบริเวณของมหาวิทยนาลันทาแล้ว ซึ่งต้องบอกว่าใหญ่โตมโหฬารมาก ถ้าเดินสำรวจให้หมดจริงๆ คงต้องใช้เวลาทั้งวัน เนื่องจากเรามีเวลาจำกัด จึงเดินไปตามทางที่เขาวางเอาไว้ จนมาถึงด้านในสุดซี่งเป็นอนุสรณ์แห่งสถานที่เกิด และปรินิพพานของพระสารีบุตร อีกทั้งยังเป็นเจดีย์ที่บรรลุอัฐิธาตุของพระสารีบุตรดังที่กล่าวไว้ข้างต้น สถูปที่เห็นนี้เก่าแก่และได้รับการสร้างอย่างประณีต มีรูปแบบเฉพาะตัว เราไปนั่งกันตรงบริเวณด้านข้างของสถูป แล้วก็สวดมนต์ นั่งสมาธิกัน เพื่อบูชาแด่พระสารีบุตร...อากาศตรงนี้เย็นสบาย นั่งสมาธิแล้วใจสงบนิ่งใจเบา กายเบามากค่ะ








สถูปใหญ่ที่อยู่ระหว่างทางเดินเพื่อไปยังอนุสรณ์สถานที่เกิด และที่ปรินิพพานของพระสารีบุตร

 

เรามารวมตัวกันที่อนุสรณ์สถานของพระสารีบุตรตรงลานกว้างร่มรื่นย์เย็นสบาย


วันนี้ประทับใจมากค่ะ...เรากลับมาพักที่วัดไทยพุทธสาวิกาเช่นเดิม ซึ่งวันนี้ฉันได้ไซื้อซิมโทรศัพท์ ราคาประมาณ 500 รูปี รวมเติมเงินไปแล้วในราคานี้ประมาณ  250 รูปี ซึ่งการใช้โทรศัพท์ที่นี่ถ้าจะโรมมิ่งจะแพงมากค่ะ จึงต้องอาศัยว่ามาซื้อซิมโทรศัพท์แบบเติมเงินที่นี่แทน ราคาโทรกลับประเทศไทย นาทีละ 10-15 รูปี มีเน็ตให้ใช้ แต่สัญญาณเขาไม่ข้ามเมือง พอข้ามจากเมืองคยาไปแล้ว สัญญาณก็ดับหายไปเลยค่ะ...คืนนี้เราพักกันเร็วเพราะเดินทางมาตั้งแต่เข้าตรู่หัวถึงหมอน ไหว้พระสวดมนต์ก็หลับสนิทเลยค่ะ...พรุ่งนี้เราจะมาเก็บตกกันที่เจดีย์พุทธคยากัน...เอาบุญมาฝากทุกท่านค่ะ
 
Tag : India Buddha คิชกูฏ พระพุทธเจ้าองค์ดำ มหาวิทยาลัยนาลันทา นาลันทามหาวิหาร Nalunta University เวฬุวัน พระโมคคัลลา พระสารีบุตร

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment