Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

ศีลธรรมกับการใช้สัตว์ทดลองทางวิทยาศาสตร์

Print October 14, 20147,158 views , 0 comments

ศีลธรรมกับการใช้สัตว์ทดลองทางวิทยาศาสตร์


เนื่องจากได้เข้าฟังการบรรยายของ ศจ.ดร. สมภาร พรหมทา เรื่องปัญหามนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ของภาควิชาปรัชญา และศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในระดับปริญญาเอก น่าสนใจมากค่ะ.....นับว่าเป็นเรื่องน่าเอามาลองขบคิดกัน โดยจะขอเรียก ศจ.ดร.สมภารพรมทา ว่าอ.สมภาร นะคะ ในเนื้อหานั้นได้กล่าวถึงการทดลองคิดค้นยาใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย ซึ่งเป็นแนวทางของการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งเราทราบกันดีว่าเป็นศาสตร์ของชาวตะวันตก โดยกว่ายาตัวหนึ่งจะสามารถนำออกมาจำหน่ายให้เราได้ใช้กันได้นั้น ต้องผ่านการทดลองมายาวนานโดยสัตว์ทดลองหลายชนิด เช่น กระต่าย ลิง หนู สุนัข ฯลฯ  อ.สมภาร กล่าวว่าเคยเข้าไปดูสถานที่ที่เขาใช้ทดลองกันด้วยตาตัวเอง สัตว์ที่ถูกนำมาใช้ทดลองยานั้น ก็จะถูกทดลองด้วยมาตรการต่างๆ โดยจากที่มันแข็งแรงๆ ก็ต้องถูกทำให้เป็นโรคร้ายต่างๆ ทั้งการฉีดยา ถูกผ่าตัด เพื่อที่จะลองนำยามารักษา และในท้ายที่สุดก็จบลงที่ความตายอย่างทุกทรมานน่าสังเวชใจยิ่งนัก
 

ศาสตราจารย์ ดร. สมภาร พรมทา 

(ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)


ในแง่มุมทางพระพุทธศาสนานั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิตเป็นปกติ ซึ่งเป็นศีลข้อแรก เพราะหากกระทำไปแล้วผลที่ได้รับนั้นคือ ผู้กระทำจะมีเหตุทำให้ถูกดึงดูดดวงวิญญาณไปยังนรกภูมิ เมื่อละโลกไปแล้ว และถูกทัณฑ์ทรมานอยู่ในนรกยาวนาน เมื่อหมดกรรมก็ต้องมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานที่ได้รับทุกขเวทนาอีกหลายร้อยชาติ จนกระทั่งกรรมเบาบาง จึงได้เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง แต่ก็เป็นผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ และ อายุสั้นในภพชาติต่อๆไปอีกด้วย...ภพภูมิเหล่านี้เป็นสิ่งสากล พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสร้างขึ้น แต่หากทรงรู้เห็นด้วยญาณทัศสนะหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้วนั่นเอง
 
หากแต่ในแง่มุมของนักวิทยาศาสตร์ผู้ผลิตยาเหล่านั้น ซึ่งมีแนวคิดแบบชาวตะวันตกที่ไม่มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม และ การเวียนว่ายตายเกิด...จึงมุ่งแต่ผลิตคิดค้นสิ่งแหล่านี้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์แม้จะต้องเสียสละชีวิตสัตว์ต่างๆ ไปเท่าไหร่เขาก็มองว่าคุ้มค่าเพราะชีวิตมนุษย์นั้นได้รับการประเมินว่ามีคุณค่ามากกว่าสัตว์เหล่านั้น
 
ฟังดูแล้วก็มีเหตุผลทั้งสองส่วน แต่อ.สมภารได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจมากคือ...ยาเหล่านี้ช่วยมนุษย์ได้เสมอไปหรือไม่? นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มต่างยอมรับว่าการผลิตยาต่างๆ ขึ้นมานั้น มีส่วนไปกระตุ้นให้เชื้อโรคต่างๆ มีการปรับตัวให้แข็งแรง ทนต่อฤทธิ์ยามากขึ้น หรือที่เรียกว่า “ดื้อยา” เชื้อโรคหลายชนิดจากเดิมที่มีความรุนแรงไม่มาก แต่เมื่อได้รับยาทางวิทยาศาสตร์แล้วมันกลับกลายเป็นเชื้อโรคที่รุนแรง ยาชนิดเดิมจึงไม่สามารถรักษาได้ต่อไป เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่มีวันจบ และวันดีคืนดี ก็มีเชื้อโรคใหม่ๆ ปรากฏขึ้นมาใหม่อีก เป็นอย่างนี้เรื่อยๆไป ดังนั้น การทดลอง ผลิตยาต่างๆ จึงเหมือนว่าไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่แท้จริง เนื่องจากเชื้อโรคเหล่านี้ไม่มีวันจบสิ้น และกลับต้องเบียดเบียนสัตว์ต่างๆ ที่ไม่มีความผิดไปกว่า ล้านชีวิตในแต่ละปี
 
อีกในแง่มุมหนึ่งซึ่งเป็นแง่มุมทางธุรกิจ ยาต่างๆ ที่ถูกผลิตก็อาจเป็นไปเพื่อแสวงหาผลกำไร ไม่ได้คิดค้นมาเพื่อรักษาสุขภาพมุนษย์อย่างแท้จริง เมื่อทานเข้าไปแล้ว ก็มักจะเกิดอาการข้างเคียง หรือ ผลเสียต่อระบบ หรืออวัยวะข้างเคียงอื่นๆ ดังจะเห็นได้ทั่วไปว่าทานยาชนิดหนึ่งแต่สุดท้ายต้องเสียชีวิตด้วยโรคอีกชนิดหนึ่ง เช่น เป็นโรคความดัน โรคหัวใจ หรือ โรคเบาหวาน แต่เสียชีวิตด้วยโรคตับ เนื่องจากทายาสะสมจนตับต้องทำงานหนักมาเป็นเวลาหลายปี เป็นต้น ดังนั้น การใช้ยาเคมีเหล่านี้จึงอาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับการมีสุขภาพดีที่มนุษย์เราปรารถนา
 
ด้วยเหตุดังกล่าวมนุษย์จึงเริ่มตระหนัก และ หันกลับมาใช้ยาสมุนไพร หรือ การมีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ เช่น การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิถีทางชีวจิต ขจัดตัวแปรที่เป็นสารเคมีต่างๆ ออกไปจากชีวิต ซึ่งก็ได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากคนไข้หลายราย รวมถึงแพทย์สมัยใหม่เองจำนวนไม่น้อยก็ยอมรับว่าวิธีการเช่นนี้ สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้อย่างน่าอัศจรรย์ และทำให้สุขภาพดีในระยะยาวอีกด้วย
 
อ.สมภาร จึงให้ทัศนะว่าอาจเป็นไปได้ในอนาคตที่ไม่ไกลเกินไปนัก วิถีการรักษาโรคที่เน้นการใช้ยาทางเคมี ซึ่งต้องเบียดเบียนสัตว์ต่างๆ มากมาย จะมีแนวโน้มว่าไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป สังเกตได้จากกระแสรักสุขภาพด้วยการหลีกเลี่ยงอาหาร หรือ ยา ที่เป็นเคมี และหันมารับประทานผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ การนิยมออกกำลังกายมากขึ้น เน้นการรักษาโรคเน้นวิถีทางธรรมชาติ หรือ ใช้สมาธิมารักษาในส่วนของสุขภาพใจแทน เป็นต้น
 
เมื่อฟังบรรยายเสร็จแล้วก็ทิ้งปัญหาไว้ให้เหล่านักศึกษาปริญญาเอกได้คิดกันว่า เราอยากจะให้ทิศทางของสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอย่างไรก็อยู่ที่พวกเราทุกคนว่าจะตระหนักถึงปัญหาและหันมาแก้ไขกันอย่างจริงจังหรือไม่...สำหรับตัวเองนั้นมีแนวโน้มเป็นวกธรรมชาตินิยมอยู่แล้ว จึงค่อนข้างเห็นด้วยกับอ.สมภาร ว่าเราควรชีวิตอิงอาศัยกับธรรมชาติทั้งพิช และสัตว์ จริงอยู่เราอาจต้องเบียดเบียนธรรมชาติบ้าง เช่น ตัดต้นไม่มาสร้างบ้านเรือน แต่ควรให้พอดีอยู่ในภาวะที่เหมาะสม ส่วนสัตว์ต่างๆ นั้น หากให้เราอยู่ร่วมโลกใบนี้ด้วยความรักและเมตตาซึ่งกันและกัน เราก็จะได้ไม่เป็นผู้ก่อเวรภัยทั้งต่อตนเอง และผู้อื่นค่ะ แล้วผู้อ่านทุกท่านคิดเห็นกันอย่างไร...เราอาจลองเก็บเอาประเด็นต่างๆเหล่านี้ไปขบคิดกันต่อไป และช่วยกันทำให้สังคม และโลกใบนี้เป็นที่ที่น่าอยู่ของเราทุกคนค่ะ


ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์: http://www.unigang.com/Article/16416
Tag : ิวิทยาศาสตร์ สัตว์ทดลอง ศีลธรรม ทารุณ สังเวช ศีล สมภา่ร สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ สมุนไพร กระต่าย ดื้อยา สุขภาพ หนูลิง เบียดเบียน โรค เคมี

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment